กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ด้วยวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน มาตรการใหม่ในการหันเหคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรม
มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดี
เยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ระบุว่า ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดเมื่อผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณา
โดยคำนึงถึง อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตใจ
นิสัย ฐานะ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนและพฤติการณ์ ต่าง ๆ
แห่งคดีแล้วเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง และเด็กหรือเยาวชนนั้น
ยินยอมที่จะอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจด้วยแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจแจ้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย ให้มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นได้
คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการนั้นให้เป็นที่สุด และการควบคุมเด็กหรือเยาวชนในสถานพินิจตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดเวลาตามที่ผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรแต่ต้องไม่เกินสองปี
และจะดำเนินการได้เฉพาะการกระทำผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินกว่าห้าปีขึ้นไป
แต่ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน
5 ปี กรณีที่เห็นว่า เด็กหรือเยาวชนดังกล่าวอาจกลับตนเป็น คนดีได้ตามมาตรา
63 โดยนำเอาวิธีการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน (Family and Community Group
Conferencing / FCGC) มาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ และนับว่าเป็นการนำมาใช้เป็นครั้งแรก
ตั้งแต่มีบัญญัติกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. 2494 ทำให้กระบวนการยุติธรรมสั้นลง
อันส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมในชั้นถัดไปเป็นจำนวนมากและที่สำคัญเด็กและเยาวชนไม่มีมลทินติดตัวไป
ชั่วชีวิต
หลักการและเหตุผลการประชุมกลุ่มครอบครัว (Family and Community Group Conferencing
/ FCGC)
การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน ไม่ได้เข้ามาแทนที่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ
แต่การประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน เป็นมาตรการเสริมกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก
โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงและควรได้รับโอกาสโดยการให้เยียวยาความเสียหาย
ด้วยกระบวนการทางเลือกแทนระบวนการยุติธรรมปกติ
1. เป็นการให้โอกาสเด็กได้กลับตัวแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตน
โดยไม่ต้องมีตราบาปติดตัวอันจะเป็นผลร้ายต่ออนาคตของเด็ก
2. เด็กต้องรับสารภาพด้วยความสมัครใจและแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
3. เด็กได้รับรู้ผลกระทบต่อเนื่องและความเจ็บปวดที่ผู้เสียหาย และบิดา
มารดา ได้รับจากการกระทำของตน
4. เด็กต้องพยายามแก้ไขผลร้ายจากการกระทำของตนที่เกิดกับผู้เสียหาย บิดา
มารดา หรือผู้อื่น
5. ครอบครัวและชุมชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำของเด็ก
6. ผู้เสียหายจะต้องมีส่วนในการให้ข้อมูลความทุกข์หรือความเสียหายที่ได้รับและพูดคุยกับเด็กผู้ต้องหา
7. การขอโทษอย่างจริงใจโดยเด็กที่กระทำผิดต่อผู้เสียหาย เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จ
8. อาจให้มีการชดใช้ความเสียหายเป็นทรัพย์หรือการทำงานชดใช้ หรือการกระทำโดยประการอื่น
แก่ผู้เสียหาย ตามความเหมาะสมหรือทำงานบริการสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง
9. ครอบครัวและชุมชนเป็นผู้ประชุมกำหนดโทษและมาตรการที่จะแก้ไขเยียวยาเด็กนั้นเอง
ภายใต้หลักการที่ว่า ไม่มีใครหวังดีต่อเด็กเกินกว่าพ่อแม่หรือครอบครัวของเด็กเอง
แต่มาตรการในการลงโทษและแก้ไขนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทั้งผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
10. เด็กรู้สึกว่าถูกลงโทษโดยพ่อแม่ และคนที่รู้จักเขามาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่โดยคนแปลกหน้า
11. โทษที่ลงต้องไม่ทำลายชีวิตปกติและพัฒนาการของเด็กและต้องเป็นไปเพื่อให้เด็กกลับไปเป็นคนดีและอยู่ได้อย่างปกติในครอบครัว
และสังคมโดยไม่ถูกผลักดันให้กลับมาทำความผิดซ้ำอีก
12. ข้อตกลงในการลงโทษเด็กที่ครอบครัวกำหนดต้องทำเป็นหนังสือและต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
และเด็กที่กระทำผิดต่อครอบครัวต้องปฏิบัติตามนั้น
13. หากเด็กปฏิบัติได้ครบถ้วนตามข้อตกลงก็จะไม่ถูกดำเนินคดีต่อไปและถือเสมือนว่าเด็กไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนเลย
14. หากเด็กไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงให้ครบถ้วน เด็กจะถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ
ต่อไป
15. ในกรณีไม่มีครอบครัวหรือครอบครัวไม่รับผิดชอบ ภาครัฐ (กระทรวงพัฒนาสังคมฯ)
หรือองค์กร
เอกชนเข้าทำหน้าที่แทน (เช่น มาตรการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก)